Tuesday, October 5, 2010

สถานที่ท่องเที่ยวชลบุรี

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ มีเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ตำบลเสม็ด อยู่บนถนนเลียบป่าชายเลน จากถนนสุขุมวิทเลี้ยวขวาที่แยกคีรีจนถึงถนนเลียบป่าชายเลนแล้วเลี้ยวซ้าย จะอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานป่าไม้จังหวัดชลบุรี โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ทางสำนักงานป่าไม้จังหวัดชลบุรีจัดสร้างขึ้น มีทางเดินศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานไม้ยาว 2,300 เมตร และได้จัดทำสวนสุขภาพบริเวณด้านหน้าของศูนย์ฯ อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 10 บาท เด็ก 5 บาท ค่าวิทยากรชั่วโมงละ 100 บาท ต่อวิทยากร 1 ท่าน เปิดบริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 8.30-18.30 น. โทรศัพท์ 0 3839 8268-9 (เวลาราชการ)

หอพระพนัสบดี

ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ตรงข้ามศาลาเทศบาลเมืองพนัสนิคม ถนนเมืองเก่า ซอย 1 เป็นที่ประดิษฐานพระพนัสบดีซึ่งจำลองจากองค์จริง เป็นพระพุทธรูปยืนปางประทานพร สมัยทวารวดีที่สง่างามมาก อายุประมาณ 1,200-1,300 ปี แกะสลักอย่างประณีตจากหินดำเนื้อละเอียด ประทับยืนบนหลังสัตว์ที่มีลักษณะผสมกันระหว่างครุฑ โค และหงส์

หาดบางแสน

หาดบางแสน อยู่ห่างจากตัวเมืองชลบุรี 14 กิโลเมตร แยกขวาจากถนนสุขุมวิท ตรงหลัก กม. 104 เข้าไป 3 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวไทยที่มีชื่อเสียงมาช้านาน มีถนนตัดเลียบชายหาด ซึ่งเรียงรายไปด้วยร้านอาหารและที่พัก มีเก้าอี้ผ้าใบสำหรับพักผ่อนรับประทานอาหารใต้ร่มเงาทิวมะพร้าว มีห่วงยางว่ายน้ำ บาบาน่าโบ๊ต จักรยานให้เช่า และห้องอาบน้ำจืด ทุกวันหยุดจะคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวไทย เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯจึงสามารถมาเที่ยวแบบเช้าไป-เย็นกลับได้

การเดินทางจากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารสายกรุงเทพฯ-บางแสน ออกจากสถานีขนส่งเอกมัยทุกวัน หรือ ขึ้นรถสายกรุงเทพฯ-ชลบุรี ลงที่สี่แยกเฉลิมไทยในตัวเมืองชลบุรีแล้วต่อรถสองแถวไปยังหาดบางแสน

เขาสามมุข

เขาสามมุขสัญลักษณ์ในดวงตราประจำจังหวัดชลบุรี เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ อยู่กึ่งกลางระหว่างบ้านอ่างศิลา และหาดบางแสน เชิงเขาเป็นที่ตั้งศาลเจ้าแม่เขาสามมุข ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป บริเวณเขาสามมุขมีลิงป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก หากขับรถไปขึ้นไปบนเขาจะมองเห็นวิวทิวทัศน์ของทะเลบางแสนได้สวยงาม

Monday, October 4, 2010

การเดินทางจังหวัดชลบุรี

โดยรถไฟ:
การรถไฟแห่งประเทศไทยมีบริการรถไฟออกจากสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไปยังจังหวัดชลบุรีทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง-3 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690 หรือ www.railway.co.th

โดยรถยนต์:
จากกรุงเทพฯ สามารถไปได้ 4 เส้นทาง คือ

1. ใช้ทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ เข้าสู่จังหวัดชลบุรี

2. ใช้ทางหลวงหมายเลข 34 (บางนา-บางปะกง) และทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) จนถึงอำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี

3. ใช้ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์)

4. ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 ผ่านจังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอบางปะกง จนบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท) เข้าสู่จังหวัดชลบุรี

โดยรถประจำทาง:
มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศของบริษัท ขนส่ง จำกัด และของเอกชน สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกหรือเอกมัย ถนนสุขุมวิท และสถานีขนส่งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ หรือหมอชิต 2 ถนนกำแพงเพชร 2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร.1490 www.transport.co.th

ปัจจุบัน บริษัท ขนส่ง จำกัด ได้เปิดให้บริการจองตั๋วรถโดยสารออนไลน์แล้ว ติดต่อได้ที่ www.thaiticketmajor.com นอกจากนี้ยังสามารถซื้อตั๋วออนไลน์ได้ที่ไทยรูท ดอทคอม www.thairoute.com

การเดินทางภายใน ชลบุรี

ในตัวจังหวัดชลบุรีมีรถชนิดต่างๆ ให้บริการ นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการยานพาหนะต่างๆ ได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสม

รถ สองแถว มีวิ่งบริการจากสถานีขนส่งไปยังที่ต่างๆ ในตัวเมือง นักท่องเที่ยวอาจเหมารถสองแถวไปเที่ยวได้ทั้งในเมืองและต่างอำเภอ คิดราคาวันละ 1,000-2,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและการต่อรอง

รถสาม ล้อเครื่องและมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จอดอยู่ตามจุดต่างๆ ในจังหวัด เช่น หน้าตลาดเทศบาล หน้าสถานีขนส่ง ค่าบริการมีทั้งแบบตกลงกันตามแต่ระยะทางและแบบเหมาจ่าย

การเดินทาง ท่องเที่ยวบนเกาะสีชังที่สะดวกที่สุดคือเช่ารถสามล้อเครื่องจากท่าเทียบเรือ ค่าเช่ารถคิดเป็นรอบ รอบละประมาณ 150-250 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและระยะทาง

บริเวณท่าเรือเกาะลอยศรีราชา มีบริการเรือโดยสารไป-กลับเกาะสีชัง ทุกวัน โดยแวะจอดที่เกาะขามใหญ่ด้วย เรือออกทุกชั่วโมง จากท่าเรือเกาะลอยตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. และจากเกาะสีชังกลับมายังฝั่งศรีราชาตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00-20.00 น. ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 45 นาที อัตราค่าโดยสารคนละ 40 บาท

ระยะทางจากอำเภอเมืองชลบุรีไปยังอำเภอต่างๆ คือ

อำเภอบ้านบึง 14 กิโลเมตร

อำเภอพานทอง 20 กิโลเมตร

อำเภอพนัสนิคม 22 กิโลเมตร

อำเภอศรีราชา 24 กิโลเมตร

อำเภอเกาะสีชัง 39 กิโลเมตร

อำเภอบางละมุง 48 กิโลเมตร

อำเภอหนองใหญ่ 51 กิโลเมตร

อำเภอบ่อทอง 56 กิโลเมตร

อำเภอสัตหีบ 84 กิโลเมตร

Sunday, October 3, 2010

ข้อมูลจังหวัดชลบุรี

จังหวัดชลบุรี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เมืองชล” เป็นเมืองที่มีความสำคัญในฐานะเมืองท่า มาเป็นเวลายาวนานหลายร้อยปี จนปัจจุบันก็ยังคงเป็นที่ตั้งของท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังที่มีความสำคัญรองจาก ท่าเรือกรุงเทพ และยังเป็นแหล่งปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพาณิชย์และเศรษฐกิจของชาติ

ในอดีตชายทะเลเมือง ชลบุรีมีอากาศดีมาก จนถูกใช้เป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยและที่ตากอากาศของพระมหากษัตริย์ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์ ดังปรากฏหมู่พระราชฐานอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อยู่บนเกาะสีชัง และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในปัจจุบัน

ด้วยทำเลที่ ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ชลบุรีจึงมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะจังหวัดท่องเที่ยวและเมืองตากอากาศชายทะเล จนกระทั่งกลายเป็นจังหวัดที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตมากที่สุดจังหวัด หนึ่งในภูมิภาค และนำรายได้เข้าสู่ประเทศจำนวนมหาศาลในทุกๆ ปีในปัจจุบัน

จังหวัดชลบุรีมีเนื้อที่ประมาณ 4,363 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,726,875 ไร่ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 51 ของประเทศ มีชายฝั่งทะเลที่เว้าแหว่งคดโค้งสวยงาม เกิดเป็นหน้าผาหิน หาดทราย ป่าชายเลน และป่าชายหาด รวมความยาวถึง 160 กิโลเมตร

ลักษณะ ภูมิประเทศของจังหวัดมีความหลากหลาย ตั้งแต่ที่ราบลูกคลื่นและเนินเขาทางด้านตะวันออก ที่ราบชายฝั่งทะเลตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงไปจนถึงอำเภอสัตหีบ ที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกงที่อุดมสมบูรณ์ด้วยดินตะกอน เหมาะสำหรับการทำการเกษตร และพื้นที่สูงชันและภูเขาทางตอนกลางและด้านตะวันออกของจังหวัด ไปจนถึงเกาะน้อยใหญ่อีกมากมายถึงกว่า 46 เกาะ ที่ทำหน้าที่เป็นปราการธรรมชาติ ช่วยป้องกันคลื่นลม ทำให้ชลบุรีไม่ค่อยมีคลื่นขนาดใหญ่ ชายฝั่งของชลบุรีจึงเต็มไปด้วยท่าจอดเรือประมง และเหมาะสำหรับการสร้างท่าจอดเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่

บริเวณจังหวัด ชลบุรีในปัจจุบันนี้ สันนิษฐานว่ามีชุมชนอยู่อาศัยมาตั้งแต่ยุคทวารวดี โดยมีเมืองพระรถตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นตำบลหน้าพระธาตุ อำเภอพนัสนิคม ในปัจจุบัน เป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมของท้องถิ่นในขณะนั้น เนื่องจากที่ตั้งของเมืองมีลำน้ำสายต่างๆ หลายสาย จึงสามารถเดินทางทางน้ำไปยังชุมชนอื่นๆ เช่น เมืองศรีมโหสถ ในจังหวัดปราจีนบุรี หรือไปจนถึงอรัญประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีเส้นทางเดินเท้าผ่านเมืองพญาเร่ ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่สำคัญอีกเมืองหนึ่งในพื้นที่ ไปจนถึงเมืองระยองและจันทบุรีด้วย

ต่อมาในสมัยสุโขทัย ชุมชนบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองชื่อ “ศรีพโล” เป็นเมืองท่าชายทะเลที่มีเรือสำเภาต่างชาติ ทั้งจากจีน เวียดนาม และกัมพูชา นิยมมาจอดพักสินค้าก่อนเดินทางต่อไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา และจอดพักก่อนกลับหรือข้ามอ่าวไทยไปทางใต้ ดังปรากฏว่ายังคงมีลูกหลานชาวจีนอาศัยอยู่ทั่วไปในเมืองชลบุรีจำนวนมากในทุก วันนี้ และจัดเป็นชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ส่วนกำแพงเมืองศรีพโลนั้นถูกทำลายไปในช่วงการก่อสร้างถนนสุขุมวิท หลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่จึงคงเหลืออยู่น้อยมากในปัจจุบัน

ถึง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เมืองศรีพโลหมดความสำคัญลงเพราะอ่าวที่เคยเป็นฝั่งทะเลลึกตื้นเขิน เนื่องจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำเจ้าพระยา ชุมชนเมืองจึงค่อยๆ เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ และมาสร้างเป็นเมืองแห่งใหม่ที่บริเวณตำบลบางปลาสร้อย (เป็นที่ตั้งของเมืองชลบุรีในปัจจุบัน) ซึ่งมีสภาพชายทะเลและทำเลจอดเรือที่ดีกว่า

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระ นั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระอินทอาษา ชาวนครเวียงจันทน์ ได้พาชาวลาวจำนวนหนึ่งมาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวลาวเหล่านั้นไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ระหว่างเมืองชลบุรีกับฉะเชิงเทรา และต่อมาได้จัดตั้งชุมชนขึ้นเป็นเมืองพนัสนิคม จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองพนัสนิคมและเมืองบางละมุงถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อเมืองชลบุรี และเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรีมานับแต่นั้น

จังหวัดชลบุรีแบ่ง เขตการปกครองออกเป็น 10 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอหนองใหญ่ อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ้านบึง อำเภอพานทอง อำเภอบ่อทอง อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง อำเภอสัตหีบ อำเภอเกาะสีชัง และกิ่งอำเภอเกาะจันทร์ ส่วนพัทยานั้นอยู่ภายใต้การบริหารปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ เรียกว่า เมืองพัทยา โดยแยกออกจากการปกครองของอำเภอบางละมุง